การศึกษาการกำหนดอัตราค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้านในประเทศไทย
by นฤมล นิราทร; Nirathorn, Narumol
การศึกษาการกำหนดอัตราค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้านในประเทศไทย | |
The Study of Piece Rate setting for Homeworks in Thailand | |
นฤมล นิราทร
Nirathorn, Narumol |
|
สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
2015 | |
สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
โครงการศึกษาวิจัย “การศึกษาการกำหนดอัตราค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้านในประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) ศึกษากระบวนการทำงาน/กระบวนการผลิตและเวลาที่ใช้ในกระบวนการทำงาน ของงานที่รับไปทำที่บ้าน จำนวน 20 ประเภทงานย่อย 26 ลักษณะงานใน 7 อุตสาหกรรม 2) ศึกษาเวลาเฉลี่ยที่ใช้ใน กระบวนการทำงาน/กระบวนผลิต เวลาที่ใช้ในการผลิตในกระบวนการต่าง ๆ ของงานที่รับไปทำที่บ้าน จำนวน 20 ประเภทงานย่อย 26 ลักษณะงานใน 7 อุตสาหกรรม 3) ศึกษาข้อมูลอัตราค่าตอบแทน ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ได้รับในกระบวนการทำงาน/กระบวนการผลิตของงานที่รับไปทำที่บ้าน จำนวน 20 ประเภทงานย่อย 26 ลักษณะงานใน 7 อุตสาหกรรมและ 4) เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการดำเนินการพัฒนา กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้านอย่างเหมาะสม วิธีการศึกษาที่ใช้ คือ การศึกษาเชิงสำรวจ ประกอบด้วยวิธีการสำคัญ 4 ขั้นตอน คือ การกำหนดแนวทางการศึกษาจากการปริทัศน์วรรณกรรม การศึกษาแนวทางการกำหนดค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้าน จากการสำรวจผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้จ้างงานในพื้นที่ การสอบทานผลการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน ขั้นตอนการทำงานและค่าใช้จ่ายกับผู้เก็บข้อมูลในพื้นที่และการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาจากกลุ่มนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการประชุมกลุ่มย่อย การกำหนดกลุ่มตัวอย่าง ทำโดยเลือกรายชื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้จ้างงานจากบัญชีรายชื่อผู้รับงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านที่รวบรวมโดยกรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ในกรณีที่รายชื่อบัญชีมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนตัวอย่างที่ต้องการใช้วิธีการระบุตัวอย่างเพิ่มโดยอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากเครือข่าย (Network sampling) หรือการอ้างอิงต่อเนื่อง (Snowball Sampling) จากผู้รับงานและหน่วยงานราชการในพื้นที่ได้จำนวนตัวอย่างผู้รับงานไปทำที่บ้าน 3,105 คน และผู้จ้างงาน 226 คน ทั้งนี้ จำนวนขั้นต่ำของผู้รับงานในแต่ละงาน คือ 10 ตัวอย่าง การรวบรวมข้อมูลทำในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน 2558 อุตสาหกรรมที่ศึกษา ได้แก่ 1. การแปรรูปอาหาร (ซึ่งประกอบด้วยงานปอกลูกตาล/หอมแดง/ปอกแห้ว/แกะกระเทียม/แกะปลากะตัก) 2. สิ่งทอ (การตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย การตัดเย็บของใช้ การทอผ้า การทำแหอวน การปักผ้าคลุมผม) 3. แปรรูปผลไม้และเครื่องจักสาน (การจักสานไม้ไผ่หรือหวายเพื่อเป็นของใช้และเครื่องตกแต่ง) 4. ผลิตภัณฑ์กระดาษและดอกไม้ประดิษฐ์ (ผลิต/ประกอบดอกไม้ประดิษฐ์ พวงมาลัย) 5. ผลิตภัณฑ์อโลหะ (การทำอิฐ กระถางต้นไม้ ผลิตภัณฑ์แกะสลักจากหินและปูน ผลิตภัณฑ์แก้ว และเซรามิก) 6. ผลิตภัณฑ์โลหะ (การตีมีดและแผ่นแร่ลงลาย) และ 7. เบ็ดเตล็ด (การเจียระไนอัญมณี เครื่องใช้ที่ทำด้วยหนัง ผลิตภัณฑ์เคมี ยางและพลาสติก การทำของเล่นเด็ก ของที่ระลึก การทำเครื่องนอน อุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนเล็กทรอนิกส์ และการถักของใช้) ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ 1. ผู้รับงานไปทำที่บ้าน การศึกษา พบว่า มากกว่า 3 ใน 4 เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จบการศึกษาขั้นสูงสุดในระดับประถมศึกษา รับงานจากแหล่งเดียว แหล่งรายได้ที่สำคัญนอกเหนือ จากการรับงานไปทำที่บ้าน คือ การเกษตร และรับจ้างทั่วไป ผู้ส่งงานที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการส่วนบุคคล ผู้รับเหมาช่วงการผลิต ตัวแทนกลุ่ม/หัวหน้ากลุ่ม ตามลำดับ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับงานไปทำที่บ้านและ ผู้จ้างงานมี 3 ลักษณะหลัก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จ้างงาน-ผู้รับงานไปทำที่บ้าน, ผู้จ้างงาน-ผู้รับเหมาช่วง- ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้จ้างงาน-ผู้แทน-ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ในความสัมพันธ์ 3 ลักษณะนี้มีความหลากหลาย ในลักษณะของผู้จ้างงาน ผู้รับเหมาช่วง ตัวแทน และผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับงานไปทำที่บ้านส่วนใหญ่ได้รับ ค่าตอบแทนไม่เกิน 7 วันหลังส่งมอบงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ระบุว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในค่าตอบแทนมี จำนวนใกล้เคียงกับผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น มีผู้รับงานไปทำที่บ้านบางส่วนได้รับ ค่าตอบแทนลดลง ในด้านปัจจัยที่ควรใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าตอบแทน ผู้รับงานไปทำที่บ้านส่วนใหญ่ มีความเห็นว่าค่าครองชีพ เป็นปัจจัยที่ควรใช้ในการกำหนดค่าตอบแทน รองลงมา คือ ความยากง่ายของงาน ต้นทุนและทักษะฝีมือ ส่วนปัญหาอุปสรรคในการทำงานที่สำคัญ คือ ปัญหาสุขภาพ งานไม่ต่อเนื่อง ค่าตอบแทนน้อย และสถานที่ทำงานคับแคบ ส่วนบทบาทที่ควรจะเป็นของหน่วยงานภาครัฐ คือ การดำเนินการให้มีการเพิ่ม ค่าตอบแทน การสนับสนุนอาชีพ การควบคุมราคา และบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ สามารถมีทักษะในการทำงานสูงขึ้น ได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น ส่วนบทบาทของผู้จ้างงานนั้น ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ต้องการให้เพิ่มราคา/ปรับเพิ่มค่าตอบแทน มีรายการผลิตสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เป็นตัวแทนเจรจากับเจ้าของงานและ จัดสวัสดิการให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีความเห็นว่าผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้าน ควรกำหนดค่าตอบแทนร่วมกัน ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพียงหนึ่งในสามที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ความช่วยเหลือที่ผู้รับงาน ไปทำที่บ้านได้รับจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม คือ การกู้เงิน การอบรมความรู้ และได้รับการสนับสนุนทุนประกอบอาชีพ 2. ผู้จ้างงาน ผู้จ้างงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเช่นกัน ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 50-59 ปี
ผู้จ้างงานส่วนใหญ่ เป็นเจ้าของกิจการ รองลงมาเป็นประธานกลุ่ม ลักษณะกิจการส่วนใหญ่เป็นการประกอบการส่วนบุคคล วิสาหกิจชุมชน และบริษัท เหตุผลของการส่งงานให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน คือ มีเครือข่ายในพื้นที่ ลดต้นทุน ไม่ต้องมีสินค้าคงคลัง มาก ผลิตไม่ทัน เป็นงานที่ไม่ผลิตในโรงงาน ความสะดวก กระจายรายได้ สร้างรายได้ เพิ่มผลผลิต หาแรงงานยาก และความชำนาญของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้จ้างงานเกือบทั้งหมดเห็นว่าค่าตอบแทนที่จ่ายสมเหตุสมผลแล้ว และ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ต่อการนำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้กับผู้รับงานไปทำที่บ้าน ส่วนปัจจัยหลักที่ควรใช้ใน การกำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับผู้รับงานไปทำที่บ้าน นอกเหนือ จากจำนวนที่ผลิตได้ในแต่ละวัน คือ การศึกษา เวลาที่ใช้ในการผลิตที่แท้จริง ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ได้แก่ ความยากง่ายของงาน การศึกษาเวลาการทำงาน ทักษะ ราคาผลผลิตและต้นทุน และการตกลงร่วมกันของผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งค่าจ้างขั้นต่ำด้วย ส่วนบทบาทในการกำหนดค่าตอบแทนนั้น ผู้จ้างงานเห็นว่าควรกำหนดร่วมกันระหว่างผู้จ้างงานและ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งมีรัฐและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมกำหนดด้วย และหากมีการกำหนดจ่ายค่าตอบแทน ตามค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้จ้างงานส่วนใหญ่ระบุว่ามีผลกระทบแน่นอน ผู้จ้างงานคาดหวังให้รัฐมีมาตรการรองรับ เช่น ลดภาษี ชดเชยส่วนที่ต่าง ควบคุมราคาต้นทุนวัตถุดิบและค่าโสหุ้ยต่าง ๆ และสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงาน 3. กระบวนการทำงานและอัตราค่าตอบแทน การศึกษา พบว่า งานส่วนใหญ่สามารถทำให้เสร็จได้ในวันเดียว เพราะกระบวนการทำงานไม่ซับซ้อน แต่มีบางงานที่กระบวนการทำงานใช้เวลามากกว่า 1 วัน เช่น งานจักสาน งานถักของใช้ เป็นต้น งานที่ได้ ค่าตอบแทนต่ำมากกว่างานประเภทอื่น ๆ คือ งานที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปอาหาร ซึ่งแม้จะใช้ทักษะ แต่ เทคโนโลยีการผลิตไม่ซับซ้อน งานบางประเภทผู้จ้างงานเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน จึงไม่ต้องลงทุนในค่าวัสดุ ในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านเป็นผู้จัดหาวัสดุ ค่าตอบแทนส่วนใหญ่ไม่รวมค่าวัสดุ งานบางประเภทมีอัตราจ่ายสูง เนื่องจากเป็นงานใช้ทักษะฝีมือ หรือมีสภาพการทำงานที่ยากลำบาก เช่น งานตีมีด
งานปั้น งานแกะสลักหิน เป็นต้น ในจำนวนงาน 26 งานใช้เป็นกรณีศึกษา มีอยู่ 16 งานที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 4. แนวทางการกำหนดอัตราค่าตอบแทนและการนำไปปฏิบัติ งานศึกษานี้เสนอว่า การกำหนดค่าตอบแทนทำได้ 2 วิธี คือ การกำหนดค่าตอบแทนมาตรฐาน รายชิ้น และการกำหนดเป็นกระบวนการกำหนดค่าตอบแทน การกำหนดค่าตอบแทนมาตรฐานรายชิ้นทำได้ ในกรณีที่งานมีกระบวนการผลิตที่เป็นมาตรฐานชัดเจน เป็นงานที่มีการผลิตในโรงงานด้วย เป็นงานที่มีการจ่าย ค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการทำงานสม่ำเสมอ ไม่ใช่เฉพาะฤดูกาล ส่วนการกำหนดเป็นกระบวนการ ทำงานใช้ในงานที่กระบวนการผลิตมีความหลากหลาย ไม่สามารถกำหนดกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ได้ชัดเจน ในทั้งสองกรณีต้องมีการศึกษาเวลาที่ใช้ในการทำงานและต้นทุนของผู้รับงาน รวมทั้งให้ความสำคัญ ต่อการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญตั้งแต่ ผู้รับงาน ผู้จ้างงาน คนกลาง และภาครัฐ นอกจากนั้น การใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเกณฑ์อ้างอิงพึงกระทำด้วยความระมัดระวัง แม้จะเป็นแนวทางที่เป็นสากล เพราะอาจ ส่งผลกระทบทางลบต่อผู้รับงาน ในประเด็นการบังคับใช้ ควรให้ความสำคัญการดำเนินการเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้เกิด การบังคับใช้ค่าตอบแทนที่กำหนดหรือกระบวนการกำหนดค่าตอบแทน เช่น จัดทำทะเบียนผู้รับงานไปทำที่บ้าน ในระดับท้องถิ่นและทั่วประเทศ สนับสนุนให้ผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการรับงาน ไปทำที่บ้านตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มาตรา 9 กำหนดให้ สถานประกอบการจัดทำทะเบียน “คนกลาง” พร้อมระบุหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการจำแนกต้นทุน และภาระของ “คนกลาง” ประกาศใช้อัตราค่าตอบแทนบางประเภทงาน แล้วประเมินผลและติดตามผลการบังคับใช้ บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและประชาสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง เช่น สร้างเครือข่าย กับหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญต่อการเข้าถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้สนับสนุนการบังคับใช้ ค่าตอบแทนที่กำหนดสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีการตรวจแรงงาน อย่างสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ผ่านกลไกของภาครัฐในระดับพื้นที่ และ มีการดำเนินการตามบทกำหนดโทษโดยเคร่งครัด นอกจากนั้นควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั้งผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้จ้างงานเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมาย เช่น การจัดทำเอกสารการทำงาน การตกลงเกี่ยวกับ ระยะเวลาการทำงาน การเลิกจ้าง จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติในเรื่องการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน และอื่น ๆ แจกจ่ายให้ทั้งผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านอย่างทั่วถึง ผ่านหลาย ๆ ช่องทาง รวมทั้งเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการประกาศใช้ค่าตอบแทนมาตรฐาน รณรงค์ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการประมูล หรือ วิสาหกิจชุมชน ให้กำหนดค่าตอบแทนสำหรับผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่น้อยกว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยระบุไว้ชัดเจนในสัญญาการผลิต ส่งเสริมให้ผู้บริโภคสนับสนุนสินค้าที่ผลิตโดยผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยให้มีการระบุวิธีการผลิต ในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทั้งนี้เพื่อให้ บริโภคตระหนักถึง “ที่มา” ของ ผลิตภัณฑ์ 5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายและบทบาทของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน งานศึกษานี้เสนอให้มีการทบทวนคำจำกัดความ “ผู้รับงานไปทำที่บ้าน” ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของ “คนกลาง” ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจำแนกการรับภาระต้นทุนได้ชัดเจน กำหนดมาตรการเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งการให้ข่าวสาร และความรู้ด้านอาชีวอนามัยแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน นอกจากนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานควรสร้างเสริม บทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มผู้รับงานทั้งเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และการพัฒนาตนเองของผู้รับงานไปทำที่บ้าน |
|
กำหนดอัตราค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้าน
อัตราค่าตอบแทน |
|
บทความ | |
Text | |
application/pdf | |
tha | |
เอกสารฉบับนี้สงวนสิทธิ์โดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามทำซ้ำ คัดลอก หรือนำไปเผยแพร่ตัดต่อโดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร | |
สงวนสิทธิ์ในการเข้าถึงเฉพาะบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน | |
https://repository.turac.tu.ac.th/handle/6626133120/258 |
Files in this item (CONTENT) |
|
View no-fulltext.doc ( 21.50 KB ) |
This item appears in the following Collection(s) |
|
Collections
|