Show simple item record

dc.contributor.authorศุภชัย ศรีสุชาติth
dc.date.accessioned2020-08-10T02:36:37Z
dc.date.available2020-08-10T02:36:37Z
dc.date.issued2563-08-10
dc.identifier.urihttps://repository.turac.tu.ac.th/handle/6626133120/875
dc.description.abstractการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สองข้อ ข้อแรก คือ ศึกษาสถานภาพปัจจุบันในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในระดับนโยบาย ระดับพื้นที่ และระดับสถานศึกษา โดยศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบการนำผลการวิจัยด้านการศึกษาไปใช้ประโยชน์ที่ประสบความสำเร็จของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ฟินแลนด์ อังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน และประเทศไทย สู่การจัดทำแนวทางการนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาสำหรับประเทศไทยเพื่อการพัฒนาคนไทยในการเตรียมพร้อมสู่ประเทศไทยยุค 4.0 ข้อที่สอง คือ การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาและแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์สู่การปฏิบัติสำหรับประเทศไทยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และด้านการพัฒนาการเรียนรู้ และด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จากการศึกษาลักษณะสำคัญของระบบการศึกษา ในประเทศ คือ ฟินแลนด์ อังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ประเทศเหล่านี้จะมีคะแนนสอบ PISA ในปี 2015 อยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีผลคะแนนสอบสูงสุด และมีความสามารถในการแข่งขันของประเทศเหล่านี้ไว้อยู่ใน 30 อันดับแรกจากประเทศทั้งหมด 141 ประเทศ (World Economic Forum, 2019) ลักษณะสำคัญของการจัดการศึกษายังมี ความแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยช่วงปี 2558 ถึงปัจจุบัน เป้าหมายสำคัญของนโยบายการศึกษาจะเป็นไปในทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และ 12 โดยให้ความสำคัญกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทักษะการคิดวิเคราะห์ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบและกระบวนการการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ทันโลก ส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกระดับทุกประเภท รวมถึงเด็กพิการ และด้อยโอกาส มีความรู้ และทักษะแห่งโลกยุคใหม่ควบคู่กันไป โดยเฉพาะทักษะการอ่าน เขียน และการคิด เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การศึกษาระดับสูง และโลกของการทำงาน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการประเมินความสำเร็จตามนโยบายของประเทศไทย เกิดจากการขาดระบบติดตามประเมินผลที่สามารถวัดระดับความสำเร็จ ขาดเครื่องมือที่ช่วยประเมินปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นระบบทั้งในระดับภาพรวม ระดับพื้นที่ และระดับสถานศึกษา จึงทำให้ไม่ทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันของการขับเคลื่อนตามนโยบาย ประกอบกับความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพของสถานศึกษา และความพร้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงพื้นที่ ส่งผลให้การดำเนินการตามนโยบายยังไม่มีระดับความสำเร็จ น้อยกว่าที่ควรจะเป็น • ข้อเสนอแนะเชิงโนบายสำหรับการจัดการศึกษาในวัยเรียน เป้าหมายหลักของการจัดการศึกษาในวัยเรียนก็เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้เรียนก่อนเข้าสู่โลกของงานในยุค 4.0 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในศตวรรษที่ 21 ตลาดแรงงานและวิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง นอกจากนี้แล้ว สำหรับในโลกของงานนั้น อาชีพจะเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว องค์ความรู้จึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Ross, 2017; Schwab, 2018 ) ในบริบทเช่นนี้ เป้าหมายของการจัดการศึกษาจึงไม่ใช่การถ่ายทอดองค์ความรู้ เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้พร้อมสำหรับโลกของงานอีกด้วย ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ 5 ด้านด้วยกัน คือ ด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี ด้านพุทธิพิสัย ด้านการเข้าใจตนเอง และด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รายละเอียดตามที่แสดงไว้ในรูปภาพที่ 1 โดยหัวใจหลักของการจัดการเรียนรู้ คือ การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งด้วยการลงมือปฏิบัติจริง และเป็นการออกแบบการเรียนรู้ตามลักษณะของผู้เรียนแต่ละคน ด้วยเหตุนี้ การจัดการศึกษาในวัยเรียนสำหรับโลกของงานในยุค 4.0 จึงเป็นภารกิจร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกกลุ่ม ทั้งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานภายนอก รวมถึงครอบครัวและชุมชน โดยข้อเสนอสำหรับการจัดการศึกษาดังนี้ 1) ระดับประเทศ จากบทเรียนที่ได้จาก 7 ประเทศนั้น ขอนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในการจัดการศึกษาระดับ ประเทศ ดังนี้ 1.1) นโยบายระดับประเทศเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการนวัตกรรมทางการศึกษา ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนและการทำวิจัยของครูได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาครูทั้งด้าน การเรียนการสอนและการทำวิจัย ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยมีลักษณะดังนี้ - สอนน้อย เรียนรู้มาก คือ การสร้างโรงเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู (professional learning community) อย่างแท้จริง ภายใต้สมมติฐานว่า การทำการบ้านที่มากขึ้นไม่ช่วยให้ การเรียนรู้ดีขึ้นเสมอไป โดยเฉพาะถ้างานนั้นไม่ท้าทายสติปัญญาของผู้เรียน การบ้านก็ไม่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ (บทเรียนจากฟินแลนด์ และสิงคโปร์) - สอบน้อย เรียนรู้มาก การประเมินผลนักเรียนควรเป็นการบูรณาการระหว่างการประเมินผลในห้องเรียนโดยครู เป็นการประเมินความก้าวหน้าของนักเรียนแบบรอบด้าน (comprehensive evaluation) และการวัดความก้าวหน้า โดยหน่วยงานภายนอก ทั้งนี้การทดสอบจัดให้มีทุก 3 หรือ 4 ปี ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณเกี่ยวกับการจัดทดสอบ (บทเรียนจากฟินแลนด์) - ยกระดับความเสมอภาค จัดการการศึกษาตามหลักการของการไม่แบ่งแยกและสามารถยกระดับ ความเสมอภาคทางการศึกษาได้ (บทเรียนจากฟินแลนด์ และสิงคโปร์) ทุกโรงเรียนสามารถเป็นโรงเรียนที่ดีได้ เช่น หลักการของกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์คือ การจัดหาทรัพยากรให้กับทุก ๆ โรงเรียน สำหรับการจัดทำโปรแกรมการเรียนการสอนพิเศษ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานของครู - โครงการโรงเรียนระดับโลก โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ไปสู่ระดับโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มระดับความหลากหลายและเพิ่มอิสระในการบริหารหลักสูตร หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของคือ การปรับโครงสร้างการระดมทุนของรัฐและความรับผิดชอบเพื่อการศึกษาสิ่งนี้จะสร้างระบบที่เชื่อถือได้มากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการระดับโลก - พัฒนาทักษะการคิดเรื่องการสอน (pedagogical thinking skill) ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถจัด การเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยอาจเปิดหลักสูตรฝึกหัดครูให้มียุทธศาสตร์ (บทเรียนจากฟินแลนด์) - การฝึกหัดครูโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (research based teacher education) เป็นการบูรณาการระหว่างทฤษฎีการศึกษา ระเบียบวิธีวิจัย และ การฝึกประสบการณ์อาชีพครู (บทเรียนจากฟินแลนด์) 1.2) การให้ความสำคัญต่อสาขาวิชา STEM ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (บทเรียนจากฟินแลนด์ และญี่ปุ่น) 1.3) ควรพัฒนาให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ดึงดูดใจคนเก่งชั้นยอดของประเทศ โดยสังคมยอมรับและเชื่อถือครู กระบวนการผลิตครูชั้นยอด และส่งเสริมให้ครูเป็นวิชาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน ควรมีนโยบายให้ครูสอนหนังสือเพียงวันละ 4 ชั่วโมง ทำให้มีเวลาเตรียมการสอน นำความรู้ที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่ และมีเวลาใส่ใจเด็กนักเรียนมากขึ้น (บทเรียนจากฟินแลนด์) 1.4) ควรมีการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ที่สามารถช่วยให้ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้ส่วนบุคคลให้กับผู้เรียนได้ พร้อมทั้งมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะในการจัดการเรียนรู้ของครู และการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้การจัดการเรียนรู้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมากที่สุด 1.5) จากการทบทวนนโยบายด้านการจัดการศึกษาของประเทศไทย พบว่านโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติปี 2560-2579 นั้น ในเชิงหลักการมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์จากการดำเนินการแผนและนโยบายด้านการศึกษาในอดีต สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็คือการขาดระบบติดตามประเมินผลที่ดีที่สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตามความก้าวหน้า ประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงการระบุปัญหาอุปสรรคที่จะต้องแก้ไข ได้อย่างครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การดำเนินงานมีในอนาคตประสบผลตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงควรมีการพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2560-2579 ที่สามารถประมวลผลได้ทั้งระดับภาพรวม ระดับจังหวัด และระดับสถานศึกษา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพียงพอในการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนนโยบาย แผนงาน โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ/กิจกรรมเหล่านั้น 2) ระดับพื้นที่ การสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาแทนที่การ “แข่งขัน” (บทเรียนจากฟินแลนด์) โดยการจัดสนทนากลุ่มที่ประกอบด้วยตัวแทนสถานศึกษาในพื้นที่ โดยให้ผู้มีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะการใช้นวัตกรรมใน การเรียนการสอน หรือให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่กำลังลองใช้นวัตกรรมในการเรียนการสอน ส่งเสริมให้ครูมีการเลือกใช้และผลิตนวัตกรรมทางการศึกษาที่เหมาะสม ครูของแต่ละสถานศึกษาจะมีโอกาสได้เรียนรู้นวัตกรรมสำหรับการเรียนการสอน วิธีการใหม่ๆ สำหรับผลิตสื่อการเรียนการสอน ได้ฝึกฝนและทดลองใช้พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนวิธีการ ผลการใช้นวัตกรรมซึ่งกันและกัน 3) ระดับสถานศึกษา ลักษณะของการนำงานวิจัยไปใช้ในการเรียนการสอนและนำมาบูรณาการในชั้นเรียน ให้เป็นการเรียน เชิงลึก (Deep Learning) ผ่านประสบการณ์การลงมือทำ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทำได้โดยวิธีการดังนี้ 3.1) Active Learning เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำ หรือปฏิบัติด้วยตนเอง ด้วยความกระตือรือร้น เช่น ได้คิด ค้นคว้า ทดลอง รายงาน ทำโครงการ สัมภาษณ์ แก้ปัญหา ฯลฯ ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ผู้สอนทำหน้าที่เตรียมการจัดบรรยายการเรียนรู้ จัดสื่อ สิ่งเร้า เสริมแรง ให้คำปรึกษาและสรุปสาระการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน 3.2) Construct เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ค้นพบสาระสำคัญหรือองค์การความรู้ใหม่ด้วยตนเองอันเกิดจากการได้ศึกษา ค้นคว้าทดลอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ผู้เรียนรักการอ่าน รักการศึกษาค้นคว้าเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ซึ่งนำไปสู่การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning Man) 3.3) Resource เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งจากบุคคล และเครื่องมือทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ผู้เรียนได้สัมผัสและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ เช่น ชุมชน ครอบครัว องค์กรต่างๆ ธรรมชาติและเทคโนโลยี ตามหลักการที่ว่า “การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์” 3.4) Thinking เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการคิด ผู้เรียนได้ฝึกวิธีคิดในหลายลักษณะ เช่น คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดถูกทาง คิดกว้าง คิดลึกซึ้ง คิดไกล คิดอย่างมีเหตุผลเป็นต้น การฝึกให้ผู้เรียนได้คิดอยู่เสมอในลักษณะต่างๆ จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น คิดอย่างรอบคอบ มีเหตุผล มีวิจารณญาณในการคิด มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่จะเลือกรับและปฏิเสธข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถแสดงความคิดเห็นออกได้อย่างชัดเจนและมีเหตุผลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน 3.5) Happiness เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข ซึ่งเกิดจากผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนสนใจสาระการเรียนรู้ชวนให้สนใจใฝ่ค้นคว้าศึกษา ท้าทาย ให้แสดงความสามารถและให้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ส่วนการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกันทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกกับการเรียน ตัวอย่างเช่น บรรยากาศที่ผ่อนคลายในโรงเรียนในฟินแลนด์ที่สงบและไม่เป็นทางการ ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน เด็กมีเวลาได้เป็นเด็ก ได้อยู่กับเพื่อนและได้ทำสิ่งอื่นที่ชอบนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ไม่ต้องวิตกกังวลกับการสอบในช่วง 5 ปีแรกของการเรียนในโรงเรียน และในปีต่อจากนั้นนักเรียนจะถูกประเมิน จากความสามารถในชั้นเรียน ซึ่งครูจะช่วยนักเรียนให้เรียนรู้โดยปราศจากความกังวลและพัฒนาความสงสัยใคร่รู้ตามธรรมชาติของเด็กไม่ใช่การสอบผ่าน 3.6) Participation เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนกำหนดงาน วางเป้าหมายร่วมกันและมีโอกาสเลือกทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ตรงกับความถนัดความสามารถ ความสนใจ ของตนเองทำให้ผู้เรียนเรียนด้วยความกระตือรือร้น มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนและสามารถประยุกต์ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ ในชีวิตจริง 3.7) Individualization เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนในความเป็น อัตบุคคล ผู้สอน ยอมรับในความสามารถความคิดเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนมุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เต็ม ศักยภาพมากกว่าเปรียบเทียบแข่งขันระหว่างกัน โดยมีความเชื่อมั่นผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้และมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน 3.8) กิจกรรมที่ผู้เรียนได้พัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม เช่น ความรับผิดชอบ ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจ ความขยัน ความมีระเบียบวินัย ความเสียสละ การทำงานอย่างเป็นระบบ การทำงานร่วมกับผู้อื่น การยอมรับผู้อื่น และการเห็นคุณค่าของงาน เป็นต้น 3.9) การบูรณาการการวิจัยกับการเรียนการสอนจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนที่มีต่อผู้เรียน ต่อผู้สอน ต่อสถานศึกษาและต่อชุมชน โดยรวมแล้ว ยังจะก่อให้เกิดสิ่งที่พึงปรารถนาแก่กลุ่มดังกล่าว ดังนี้ คือ การรู้สึก การรู้รอบ รอบรู้ หรือ รู้กว้าง และ การสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยพิจารณาถึงกระบวนการวิจัย กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการค้นหาความรู้ความจริง กระบวนการคิดสร้างสรรค์ ทางปัญญา กระบวนการคิดแก้ปัญหา และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แนวทางการนำผลการวิจัยไปใช้บูรณาการในการเรียนการสอนนั้น ผลการวิจัยไม่ว่าจะเป็นในรูปของความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม การยืนยันทฤษฎีข้อความจริง แนวทางการพัฒนาปรับปรุงงานหรือการตอบปัญหาข้อสงสัย จะเป็นข้อมูลหรือความคิดที่ทรงคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่เราต้องการพัฒนา และเป็นเครื่องมือที่ใช้แสวงหายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการจัดการการศึกษาระดับประเทศ ระดับพื้นที่ และระดับสถานศึกษา สำหรับแนวทางการนำผลการวิจัยไปในชั้นเรียนและนำงานวิจัยเหล่านั้นมาบูรณาการกับการเรียน การสอน มีแนวทาง ดังนี้ 1) การนำผลการวิจัยไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอน โดยใช้แก้ปัญหาการเรียนการสอนโดยตรง เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ โดยอาจารย์ผู้สอนนำไปใช้ในการปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือใช้ผลการประเมินเป็นข้อมูลย้อนกลับในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น 2) การนำผลการวิจัยไปใช้เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการเรียน การสอนโดยการนำไปใช้แก้ปัญหาหรือนำไปใช้ประโยชน์เชิงวิชาการที่เป็นความรู้ใหม่นำไปอ้างอิงหรือนำไปสอนนักเรียน เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และยังสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อไปเพื่อให้ได้ความรู้ที่ลึกซึ้งเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น 3) การนำผลการวิจัยไปใช้เป็นผลงานทางวิชาการ ผลการวิจัยนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านการปรับปรุงและพัฒนางานหรือการจัดการเรียนการสอนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพอีกด้วย โดยผู้วิจัยสามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะหรือปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นได้ การบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอนเป็นการใช้ขั้นตอนการวิจัยเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอน กล่าวคือ เริ่มต้นตามความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนแล้วให้ผู้เรียนคิดปัญหาหรือโจทย์ ตั้งวัตถุประสงค์ สมมุตติฐาน ออกแบบการวิจัยเพื่อหาข้อมูลมาทดสอบสมมุติฐาน และหาคำตอบตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ สรุปผล รายงานการวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มของผู้เรียนและอาจารย์ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์และสามารถนำไปสร้างนวัตกรรมได้ การเรียนการสอนแบบ Research Based Instruction นั้นช่วยทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ และเกิดความคิดสร้างสรรค์ทางปัญญา ซึ่งมีแนวทางดังนี้ 1) สร้างบรรยากาศกระตุ้นให้นักศึกษาอยากจะรู้ อยากจะเรียน อยากจะทำ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้เขาขับเคลื่อน เกิดความรู้สึกอยากจะสร้างสรรค์ อยากจะรู้ อยากจะเรียน 2) ใช้แรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) ให้เกิดการสร้างสรรค์ความรู้ 3) ให้การเรียนรู้โดยการลงมือทำจริง (Learning by Doing) 4) ให้มีประสบการณ์เดิม/ความรู้เดิมบวกกับประสบการณ์ใหม่/ความรู้ใหม่ แล้วคิดทบทวนกลั่นกรองที่เรียกว่า การคิดแบบสะท้อนกลับไปกลับมา (Reflective Thinking) 5) ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนนักศึกษา และอาจารย์ (Interactive) เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 6) หาข้อสรุปร่วมกัน คือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้างความคิดใหม่ สะท้อนความคิดใหม่เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ความรู้จึงไม่หยุดนิ่งจะเกิดการคิดค้นต่อไปอีก 7) จัดการทำงานและเรียนรู้เป็นทีม (team Learning) 8) จัดให้เป็นการเรียนรู้ “วิธีการเรียนรู้” (Learning to learn) ไม่ใช่การสอนหรือบอก • ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการจัดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ก็เพื่อช่วยผู้เรียนให้สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของชีวิตได้ รูปภาพที่ 2 แสดงให้เห็นถึงข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยเริ่มจากช่วงวัยเรียน ที่เป็นการสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ในระยะยาวตลอดชีวิต จึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เชิงลึกเฉพาะบุคคลด้วยการปฏิบัติจริง (Active Learning) เพื่อสร้างความสามารถด้านวิชาการ การใช้เทคโนโลยี มีพุทธิพิสัย มีการเข้าใจตนเอง และสามารถทำงานรวมกับผู้อื่นได้ โดยมีสถานศึกษาเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อผู้เรียนเข้าสู่ช่วงของวัยทำงานและวัยเกษียณนั้น การจัดการเรียนรู้จะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้เรียนที่ต้องมีภาระหน้าที่ด้านการงานและครอบครัวที่มากขึ้น ดังนั้น การจัดการเรียนรู้จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกหัวข้อ เนื้อหา และแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับตนเอง ตามวัตถุประสงค์ของผู้เรียนว่าต้องการเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะเดิม (Upskill) หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้จึงต้องจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้เรื่องเดียวกันไว้ในแฟลตฟอร์มหลายรูปแบบทั้งที่เป็นแบบออนไลน์ และการเรียนรู้ในศูนย์ทักษะ (Skill Center) เช่น การศึกษานอกโรงเรียน สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน สถานประกอบการ และหน่วยงานที่มีความชำนาญเฉพาะทาง จากการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา พบว่า หน่วยงานเหล่านี้มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้ดีในระดับหนึ่ง ดังนั้น บทบาทการสถานศึกษาเหล่านี้จึงไม่ควรจำกัดอยู่แค่การให้การศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษา แต่ควรทำหน้าที่เป็นศูนย์ทักษะ เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ การจะทำเช่นนั้นได้ สถานศึกษาจะต้องมีการพัฒนาตนเองด้วยการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องจนบุคลากรในสถานศึกษามีความชำนาญมากพอจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในพื้นที่ได้ เครือข่ายของพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยเป็นวิทยากรและที่ปรึกษา ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้สูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในทุกช่วงวัยth
dc.format.mimetypeapplication/pdfth
dc.language.isothath
dc.publisherสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์th
dc.rightsเอกสารฉบับนี้สงวนสิทธิ์โดยผู้ให้ทุน ห้ามทำซ้ำ คัดลอก หรือนำไปเผยแพร่ตัดต่อโดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรth
dc.subjectสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาth
dc.subjectการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายth
dc.titleการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาบทเรียนจากนานาประเทศth
dc.title.alternativeReview of Researches Related to Education : International Lessonsth
dc.typeTextth
dcterms.accessRightsบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงเอกสารนี้ได้th
dc.rights.holderสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาth
cerif.cfProj-cfProjId2562A00603th
mods.genreรายงานวิจัยth
turac.projectTypeโครงการวิจัยth
turac.researchSectorสาขาการวิจัยและการประเมินผล (Research and Evaluation sector : RE)th
turac.contributor.clientสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
turac.fieldOfStudyสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์th
cerif.cfProj-cfTitleการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาบทเรียนจากนานาประเทศth
cerif.cfProj-cfEndDate
cerif.cfProj-cfProjStatusสิ้นสุดโครงการth


Files in this item

Thumbnail

This item appears in the following Collection(s)

Show simple item record